คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ขอแสดงความยินดีกับ นางมัลลิกา สังข์สนิท ศิษย์เก่าปริญญาตรี สาขาภาษาอังกฤษ เนื่องในโอกาสได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น “ด้านความสำเร็จในอาชีพ หน้าที่การงาน” มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประจำปี 2567 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน)
ประวัติด้านการศึกษา
- ปริญญาตรี สาขามนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์มหาสารคาม ปีที่สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2536
- ปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Fairleigh Dickinson University, USA ปีที่สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2539
- ปริญญาเอก สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) คณะการศึกษา (Education) มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า (University of Minnesota, USA) ปีที่สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2545
ประวัติด้านการทำงาน
- รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2564 – ปัจจุบัน) ทำหน้าที่กำกับดูแลพันธกิจสัมพันธ์ทั้งระดับชุมชน จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ และนานาชาติ โดยดูแลงานกิจการนานาชาติ ส่งเสริมและสนับสนุนการบริการวิชาการ ปรับเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดการนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการสร้าง Impact จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและศักยภาพของนักศึกษาและบุคลากรให้พร้อมในการประกอบธุรกิจและนวัตกรรมเพื่อสังคม
- รักษาการผู้อำนวยการเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2565 – ปัจจุบัน)
ดูแลงานบริหารจัดการและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ผลักดันโครงการที่เสริมสร้างศักยภาพของมหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรม การจัดการนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญา การนำองค์ความรู้ไปใช้ในการบริการวิชาการและนวัตกรรมทางสังคม สร้างธุรกิจใหม่จากงานวิจัย ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมด้วยองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัย รวมถึงการเป็นต้นแบบ one stop service ด้านการบริการวิชาการและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม และการหารายได้ - หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้ประกอบการ (Center of Excellence for Entrepreneurship) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2562 – ปัจจุบัน) ทำหน้าที่วิจัย สร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ โดยเน้นการสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการในชุมชนและสถาบันการศึกษา
- ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าคนแรกของโครงการจัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (Student Entrepreneurship Development Academy: SEDA) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2559 – 2564) พัฒนาและดำเนินโครงการเพื่อสร้างความตระหนักและแรงบันดาลใจ พัฒนากรอบความคิดและทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการนักศึกษาและนักวิจัย (Academic Entrepreneurship) และเผยแพร่ความเข้าใจด้านความเป็นผู้ประกอบการ
- ผู้จัดการสำนักงานบริหารทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Management Office – IPMO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2551 – 2556) เป็นผู้ก่อตั้งและพัฒนากระบวนการ นโยบาย และวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและการให้คำปรึกษาด้านการจดทะเบียนและจัดการทรัพย์สินทางปัญญา
- อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (พ.ศ. 2545 – ปัจจุบัน) ทำหน้าที่สอนและวิจัยในด้านการพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ การจัดการผลการปฏิบัติงาน กลยุทธ์การจัดการ สอนด้านผู้ประกอบการ (Technopreneurship, Social Entrepreneurship, Entrepreneurship and Innovation) ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา สอนด้านการพัฒนานวัตกรรม (Design Thinking, Social Innovation, Business Model etc.) และสอนด้านการบริหารทรัพย์สินทางปัญญา และการปรับแปลงถ่ายทอดเทคโนโลยี (Intellectual Properties Management, Technology Transfer and Entrepreneurship) ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา เป็นต้น
- ปรึกษาและวิทยากรหลักในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการภายใต้การสนับสนุนของ InfoDev -World Bank ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างศักยภาพด้านธุรกิจและนวัตกรรมแก่ผู้ประกอบการในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ Mekong Women Entrepreneurship Challenge (MWEC) ที่พัฒนาผู้ประกอบการหญิงในภูมิภาคแม่น้ำโขง โดยจัดฝึกอบรมและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการทั้งในลาว เวียดนาม และกัมพูชา ช่วยให้พวกเขาได้สร้างเครือข่ายการทำงานระดับภูมิภาค และ Women Innovators Network in the Caribbean (WINC) ที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการหญิงในแคริบเบียน โดยผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Grow Your Business (GyB) Workshop ซึ่งสนับสนุนโดยรัฐบาลแคนาดาและธนาคารโลก ช่วยให้ผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศแคริบเบียนได้เรียนรู้กลยุทธ์ด้านนวัตกรรมและการจัดการธุรกิจเพื่อการขยายกิจการ ในอีกบทบาทหนึ่ง ดร.มัลลิกายังเป็นที่ปรึกษาโครงการ Nepal Agri-Food Business Growth Program ในการสร้างความยั่งยืนแก่ผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของประเทศเนปาล โดยพัฒนาการจัดการธุรกิจและนวัตกรรมในภาคเกษตรให้มีศักยภาพแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ดร.มัลลิกายังมีบทบาทสำคัญในการ ฝึกอบรมผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในมหาวิทยาลัย ผ่านสมาคม Thai Business Incubator and Science Park Association (ThaiBISPA) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งการอบรมนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้ในการจัดการธุรกิจนวัตกรรม การพัฒนาและดูแลผู้ประกอบการในศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ รวมถึงการบริหารงานศูนย์บ่มเพาะเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมภายในประเทศ
ผลงานดีเด่น ดร.มัลลิกา สังข์สนิท เป็นบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรม พัฒนาผู้ประกอบการ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ โดยผลงานที่เป็นจุดเด่นมีดังนี้
- ผู้นำด้านนวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัย ในฐานะ รองอธิการบดีฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ นวัตกรรม และความเป็นผู้ประกอบการ ดร.มัลลิกาได้ผลักดันให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและผู้ประกอบการในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ผ่านการวางนโยบายและการจัดโครงการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาและบุคลากรได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ โครงการเหล่านี้ได้ส่งเสริมการสร้าง Startup (บริษัทเริ่มต้น) จำนวน 34 ทีม และ Spin-Off 21 ทีม ซึ่ง Spin-Off หมายถึง บริษัทใหม่ที่เกิดจากการนำงานวิจัยของนักวิจัยไปก่อตั้งเป็นธุรกิจใหม่ โดยการสนับสนุนเหล่านี้ได้สร้างงานและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมและการพัฒนาผู้ประกอบการที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนและประเทศได้อย่างยั่งยืน
- ผู้บุกเบิกการพัฒนาผู้ประกอบการในระดับนักศึกษา ดร.มัลลิกาเป็นผู้ก่อตั้ง สถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (Student Entrepreneurship Development Academy หรือ SEDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรมในกลุ่มนักศึกษา โครงการ SEDA ไม่ได้เน้นเฉพาะการพัฒนาทักษะเพื่อการประกอบธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเน้นการพัฒนาสมรรถนะที่สำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาและการทำงานในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะ ทักษะและกรอบความคิดด้านนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ผ่านหลักสูตรและกิจกรรม เช่น การฝึกอบรมการคิดเชิงสร้างสรรค์ การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา และการส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนากรอบความคิดที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมรายวิชาและกิจกรรมนอกหลักสูตร (Co-Curricular Activities) เพิ่มขึ้นกว่า 155% จาก 3,522 คนในปี 2564 เป็น 8,989 คนในปี 2567 ขณะที่นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตร (Extra Curricular Activities) จำนวน 2,396 คน ซึ่งแสดงถึงความสำคัญที่นักศึกษามองเห็นในการพัฒนาทักษะที่ทันสมัยและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน
- บทบาทระดับนานาชาติ ดร.มัลลิกามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการในระดับนานาชาติ โดยท่านได้ร่วมเป็นที่ปรึกษาของ InfoDev-WorldBank ในการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร รวมถึงเป็นวิทยากรในโครงการระหว่างประเทศหลายโครงการ ได้แก่ Mekong Women Entrepreneurship Challenge (MWEC) ซึ่งพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงในภูมิภาคแม่น้ำโขง (รวมถึงไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา) และ Women Innovators Network in the Caribbean (WINC) ซึ่งพัฒนาวิทยากร พัฒนาทักษะและสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงในประเทศแถบแคริบเบียน นอกจากนี้ ดร.มัลลิกายังมีบทบาทในโครงการ Nepal Agri-Food Business Growth Program ที่ช่วยเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในภาคการเกษตรและอาหารของประเทศเนปาล โดยถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการจัดการเชิงนวัตกรรมให้ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
- บทบาทในการพัฒนาเมือง พัฒนาเชิงพื้นที่ ในโครงการ Korat Medical and Health Innovation Zone ดร.มัลลิกาเป็นผู้นำในการดำเนินการ ประสานงาน พัฒนาเครือข่าย พัฒนาข้อเสนอโครงการ และวางแผนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างพื้นที่นครราชสีมาให้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพระดับภูมิภาค โดยมีเป้าหมายในการดึงดูดการลงทุน การวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ที่ล้ำสมัย โครงการนี้ได้รับการพัฒนาและผลักดันอย่างต่อเนื่องจนได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความสำคัญและศักยภาพของโครงการในการส่งเสริมเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
- การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ดร.มัลลิกาได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจ ความร่วมมือเหล่านี้ได้เสริมสร้างศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการดึงดูดการลงทุนจากภายนอก โดยในปี 2567 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีสามารถดึงดูดงบประมาณจากแหล่งทุนภายนอกในการนำมาพัฒนาผู้ประกอบการและนักศึกษา ได้ถึง 59,116,353 บาท ซึ่งเป็นทุนที่นำไปใช้ในการสนับสนุนโครงการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยและชุมชน รวมถึงการดึงดูด นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ SUT Holding Company
- การเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจในวงกว้าง นอกจากบทบาทในมหาวิทยาลัยแล้ว ดร.มัลลิกายังมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและผู้ประกอบการผ่านการตีพิมพ์บทความวิจัยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ และการจัดการฝึกอบรมในหลากหลายโครงการให้กับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ และเป็นผู้จัดและวิทยากรใน TEEN Forum (Thailand Entrepreneurship Education Network) ซึ่งจัดโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านความเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านผู้ประกอบการและนวัตกรรมแก่คณาจารย์ ผู้สอน และผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนานักศึกษาและการพัฒนาผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โครงการนี้ส่งเสริมให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจในการพัฒนาผู้ประกอบการและสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนมีทัศนคติที่พร้อมรับความท้าทายและสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ
ด้วยบทบาทที่สำคัญทั้งในด้านการบริหารนโยบายและการพัฒนานวัตกรรมในมหาวิทยาลัย การสร้างผู้ประกอบการ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการเผยแพร่องค์ความรู้ ดร.มัลลิกา สังข์สนิท จึงเป็นผู้ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับสากล ผลงานของท่านเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อมหาวิทยาลัย ชุมชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืน